[Advertorial]
ทางเลือกในการมีบ้าน นอกจากจะซื้อบ้านจัดสรรจากโครงการต่างๆ ที่มีอยู่กันดาดดื่นแล้ว อีกทางเลือกนึงสำหรับคนที่มีที่ดินอยู่แล้วแต่ต้องการสร้างบ้านของตัวเองนั้นมีอยู่หลายวิธีค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างสถาปนิกออกแบบและหาผู้รับเหมามาก่อสร้างตามแบบที่ดีไซน์ออกมา หรือถ้างบประมาณจำกัดและต้องการความสะดวกรวดเร็ว การซื้อบ้านสั่งสร้างตามแบบสำเร็จโดยใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านต่างๆ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจค่ะ โดยแต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป
อย่างการจ้างสถาปนิกออกแบบให้ โดยหาผู้รับเหมาเอง มีข้อดีคือสามารถออกแบบสวยงามมีความเป็นตัวเองมากกว่า แบบบ้านมีความแตกต่างจากการซื้อบ้านจัดสรรทั่วไป ดีไซน์ได้จำเพาะเจาะจงและทำฟังก์ชั่นการใช้สอยได้ตรงใจมากกว่า ซึ่งก็อาจจะเหมาะกับคนที่มีงบประมาณและเวลามากพอสมควร แต่ก็อาจจะตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่บานปลาย หรือความเสี่ยงต่างๆ เช่น ผู้รับเหมาหนีงาน เป็นต้น ถ้าไม่อยากเจอปัญหานี้ก็ต้องคุมเข้มกันมากพอดู
แต่หากเป็นการสั่งสร้างโดยใช้แบบบ้านสำเร็จรูปที่ยกไปตั้งที่ไหนก็ได้ โดยเลือกแบบตามชอบ ที่บริษัทรับสร้างบ้านต่างๆ ออกแบบไว้แล้วก็เป็นอีกทางหนึ่งที่สะดวกและควบคุมงบประมาณได้ค่ะ ซึ่งถ้าอยากได้บ้านตามมาตรฐานที่ไม่ได้แปลกแหวกเว่อร์ ต้องการความมั่นใจได้มาตรฐาน การใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจนะคะ
ทางทีมงานอยู่สบายได้รับเชิญจากทาง ซีคอนโฮม (Seacon Home) ซึ่งเป็นบริษัทรับสร้างบ้านที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในไทยในไปเยี่ยมชมโรงงาน และขั้นตอนการผลิตชิ้นส่วนของบ้านสำเร็จรูปสั่งสร้าง เราจึงมาเขียนบทความเล่าให้อ่านกันว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้างค่ะ ถือว่าเอาไว้เป็นความรู้สำหรับคนที่มีที่ดินอยู่แล้ว ต้องการใช้บริการของบริษัทรับสร้างบ้านแนวนี้

ซีคอนโฮม นี้รับสร้างบ้านมาตั้งแต่ปี 2504 (เรายังไม่เกิดเลย) รวมแล้วมีประสบการณ์กว่า 56 ปี ลองผิดลองถูกมาเยอะ จนพัฒนาเป็น “ระบบซีคอน” ของตัวเอง โดยจะผลิตโครงสร้างบางส่วนจากโรงงาน เพื่อให้งานต่อการควบคุมมาตรฐานแข็งแรง ลดค่าใช้จ่ายเพราะทำเป็นระบบอุตสาหกรรม ติดตั้งได้รวดเร็ว มีการรับประกันโครงสร้าง 20 ปี ซึ่งบริษัทในเครือก็มี CompactHome และ BudgetHome ค่ะ
ก่อนพาไปดูขั้นตอนต่างๆ เราขอปูพื้นความรู้ทั่วไปในการสร้างบ้านสักหลังให้เห็นภาพรวมกันก่อนค่ะ
ขั้นตอนการมีบ้านทั่วไป + ค่าใช้จ่าย (ไม่รวมเฟอร์นิเจอร์และตกแต่งภายใน)
- คนที่อยากได้บ้าน ก่อนอื่นต้องต้องรู้ตัวเองก่อนว่า ต้องการอะไร ? พื้นที่เท่าไหร่ ? งบเท่าไหร่ เช่น ต้องการบ้าน 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ บนพื้นที่ 120 ตร.ม. งบ 1.5 ล้านบาท สไตล์บ้านอยากได้แบบไหนก็เก็บภาพเป็นตัวอย่างเอาไว้ เดี๋ยวนี้คลิกหาในอินเตอร์เน็ตแป๊บเดียวก็เจอค่ะ
- หาบริษัทสถาปนิกที่ถูกใจ บอกความต้องการและงบที่มี ให้ออกแบบบ้านให้ โดยมีค่าออกแบบประมาณ 3-7% ของราคาบ้าน แล้วแต่ตกลงราคา อันนี้ขึ้นอยู่กับผลงาน ความสามารถ รวมถึงความสนิทสนมกับสถาปนิกอีกที แต่ถ้าใครไม่มีงบ ก็ไปเอาแบบบ้านฟรีที่ กทม.แจกได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ได้ดีเหมือนจ้างออกแบบหรอก ก็สถาปนิกเค้าศึกษาเรียนมาตั้งหลายปีเนอะ
- เมื่อได้แบบบ้านมาแล้วก็หาผู้รับเหมา ซึ่งมักคิดเป็นบาทต่อตารางเมตร ตีราคาค่าก่อสร้าง เช่น 18,000 บาท/ตร.ม. รวมวัสดุก่อสร้าง หรือ เราอาจจะหาซื้ออุปกรณ์เองแล้วจ้างเฉพาะค่าแรงอย่างเดียว เป็นต้น
เมื่อลองคำนวนคร่าวๆ จะได้ค่าบ้าน 12,000 x 120 = 2,160,000 บาท รวมค่าจ้างสถาปนิก 5% = 108,000 รวมค่าใช้จ่าย 2,268,000 บาท ส่วนถ้าจ้างบริษัทรับสร้างบ้าน ขั้นตอนจะง่ายกว่า ตรงที่แค่จิ้มแบบบ้านตามงบประมาณ ที่เหลือก็ปล่อยให้บริษัทไปจัดการ สบายเรา ค่ะ
ส่วนประกอบบ้าน
ส่วนใหญ่โครงสร้างจะมีราคามาตรฐานไม่ต่างกันมาก ที่นิยมจะเป็นโครงการคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) เพราะว่าโครงสร้างเหล็กอย่างเดียวค่อนข้างแพง แล้วก็ยังไม่ได้เป็นที่นิยมมากในบ้านเราด้วย ส่วนราคาบ้านนั้นจริงๆ จะตัดกันตรงวัสดุตกแต่งต่างๆ อย่างถ้างบน้อยปูกระเบื้องเกรดธรรมดา ผนังก็ฉาบเรียบทาสีไป ถ้ามีตังหน่อยวัสดุตกแต่งต่างๆ ก็จะดีขึ้น เช่น ส่วนพื้นก็ปูหินอ่อนได้ โดยแต่ละวัสดุก็จะมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป ถ้าจะให้เล่าคงต้องแยกเป็นอีกบทความนึงไปเลย
- โครงสร้าง : เสาคาน-คอนกรีตเสริมเหล็ก / เสา-คานเหล็ก / ผนังรับน้ำหนัก
- ผนัง : ก่ออิฐมอญ / ก่ออิฐมวลเบา / ผนังสำเร็จรูป Pre-Cast
- พื้น : พื้นไม้ลามิเนต / หินแกรนิตโต้ / ไม้ปาร์เก้ ฯลฯ
- ผนัง : ฉาบปูนทาสี / หินตกแต่งต่างๆ ฯลฯ
- ผนังภายนอก : ฉาบปูนทาสี / หิน ฯลฯ
- ฝ้า : ยิปซั่มบอร์ด
- ประตู หน้าต่าง : อะลูมิเนียม / บานไม้ / uPVC
- หลังคา : กระเบื้องดินเผา / กระเบื้องคอนกรีตหรือกระเบื้องซีเมนต์ / กระเบื้องลอนคู่ ฯลฯ
ขั้นตอนการสร้างบ้านโครงสร้างคสล.
เมื่อเห็นส่วนประกอบของบ้านแล้วก็มาทำความเข้าใจขั้นตอนการก่อสร้างกัน ว่าจะเอาชิ้นส่วนไหนลงก่อนกัน ทาง SEACONHOME ทำขั้นตอนต่างๆ ให้เห็นภาพได้ง่ายๆ ดังนี้ค่ะ
- ตรวจสอบระดับดิน, เตรียมไฟฟ้า-ประปาชั่วคราว , เตรียมที่พักคนงานและที่กองเก็บวัสดุ ตรวจสอบระยะร่นให้ถูกกฎหมาย
- ลงเสาเข็มตอก หรือ เสาเข็มเจาะ ไปตามตำแหน่งของแบบ , ตรวจสอบการรับแรงของเสาเข็มให้ได้มาตรฐานและตั้งฉากทุกต้น
- งานโครงสร้างจะสร้างจากล่างขึ้นบน เริ่มจาก เทฐานราก, หล่อคานคอดิน ,หล่อเสาชั้น 1 , ติดตั้งท่อน้ำยากำจัดปลวก , เทพื้นชั้นล่าง, เทพื้นชั้นบน, หล่อเสาคานชั้นบน ,ติดตั้งโครงสร้างหลังคาเหล็ก และงานโครงสร้างบันได
- งานสถาปัตยกรรมจะเริ่มจากบนลงล่าง เริ่มจาก มุงหลังคา, ก่อผนังพร้อมกับระบบไฟฟ้า, ท่อน้ำ, ติดตั้งระบบสื่อสาร, ระบบกันขโมย, ฉาบผนังด้วยปูน, ติดตั้งวงกบประตู-หน้าต่าง, ฝ้าเพดาน, ปูวัสดุพื้น, ใส่สุขภัณฑ์ต่างๆ ,ติดตั้งประตูหน้าต่าง, ทาสีภายนอก, ติดไฟ, ติดตั้งถังบำบัดน้ำเสีย, ตรวจสอบระบบไฟฟ้า, ทำความสะอาด ก็เป็นอันเสร็จ
- สุดท้ายก็เป็นการตรวจรับมอบบ้าน
พอเราเข้าใจขั้นตอนต่างๆ แล้ว ก็ถึงเวลาไปบุกโรงงานของ Seacon Home กันแล้วค่ะ
1) เลือกบ้าน / ออกแบบบ้าน
ศูนย์ของ Seacon Home จะมีหลายสาขา แถวสี่พระยา, แจ้งวัฒนะ, โชคชัย 4, ศรีนครินทร์, รามอินทรา, บางแค, ชลบุรี โดยวันนี้เรามายังศูนย์ศรีนครินทร์ค่ะ เมื่อเข้าไปแล้วก็จะมีบ้านหลากหลายแบบให้เลือก เราก็เลือกแบบบ้านที่มีตามงบที่เรามี หากไม่ชอบสีสันหรือรูปแบบก็ขอปรับแบบได้นิดหน่อย แต่ถ้าเปลี่ยนไปมากนี่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มมากขึ้น เพราะเค้าต้องทำชิ้นส่วนนั้นๆ เฉพาะบ้านของเราให้ หรือจะเลือกมาก่อนจากเว็ปไซต์ก็ได้ >>> http://www.seaconhome.co.th/แบบบ้าน
โมเดลบ้านราคาประหยัดและบ้านแพงมีครบ
แบบ 3 ชั้นก็สร้างได้เช่นกันค่ะ
พอเลือกแบบบ้านแล้วก็ต้องเลือกวัสดุภายในบ้านที่อยากได้ ซึ่งที่ศูนย์ก็มีวัสดุหลายแบบให้เราเลือก เลือกไปเลือกมาก็อย่าให้เกินงบก็แล้วกัน
สรุปออกมาได้แบบสถาปัตยกรรมและแบบวิศวกรรม พร้อม Spec วัสดุต่างๆ ของบ้านที่ต้องการ อย่างแบบบ้านนี้จะเป็นหลังที่สูงชั้นเดียวค่ะ
.
.
.
หลังจากที่เลือกแบบบ้านไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็สำคัญมาก นั่นคือ ….
.
.
.
จ่ายตังค่าาาา !
ใช่ซิ!!! ไม่จ่ายตังใครเค้าจะทำให้หล่ะ 5555
ซึ่งพอจ่ายตังทำสัญญาส่วนหนึ่งเรียบร้อยแล้ว แบบบ้านที่เราเลือกก็จะเข้าสู่กระบวนการผลิตค่ะ ระหว่างนี้ถ้าเจ้าของบ้านมีที่ดินเตรียมพร้อมก่อสร้างแล้ว ก็รออย่างเดียว แต่ถ้าที่ดินยังต้องเคลียร์ที่ ต้องถมหรือบดอัด ก็ดำเนินการไปพลางๆ ค่ะ
2) ขั้นตอนการผลิต : เตรียมเหล็กเสริม
พอได้แบบก่อสร้างแล้ว ทางทีมงานวิศวกรก็จะคำนวนโครงการสร้างทั้งขนาดเสาและขนาดเหล็กที่จะใส่ในเสา, คาน, บันได ว่าต้องใช้เสากี่ต้น คานกี่อัน หน้าตัดเท่าไหร่ ต้องเสริมเหล็กยังไง ซึ่งปกติแล้วมันก็จะเป็นไซส์มาตรฐานเพื่อให้เข้าระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมได้หล่ะนะ แล้วจากนั้นเค้าส่งมายังโรงงานที่ซอยอ่อนนุช 46 ซึ่งจะมีทั้งโรงเหล็กและโรงงานปูนอยู่ตรงข้ามกัน เริ่มจากการโรงเหล็กก่อนเลยค่ะ
ภายในโรงงาน
เหล็กต่างๆ จะสั่งมาจาก Supplier ที่ได้มาตรฐาน มอก.และจะติด Tag เอาไว้หมด ติดตามได้ง่าย โดย SeaconHome ก็จะสุ่มเหล็กไปตัดทดสอบอีกรอบเพื่อความมั่นใจ พอเหล้กเซตนั้นผ่านมาตรฐานก็ถึงจะเอาไปใช้ต่อค่ะ
เหล็กหลักๆ จะมี 2 แบบ คือ
- เหล็กข้อกลม (Round Bars : RB) หน้าตัดประมาณ 6 – 25 มม. ผิวจะเรียบๆ เหมือนลวด มักใช้เป็นเหล็กปลอกรัดเหล็กข้ออ้อยอีกที
- เหล็กข้ออ้อย (Deformed Bars : DB) หน้าตัดประมาณ 10 – 32 มม. ผิวจะมีลายๆ ใช้รับแรงดึงได้ดี ถ้าใส่เสาก็จะวางยาวตลอดแนวเสา ส่วนคานก็จะวางยาวตามแนวคาน
บริเวณนี้จะเป็นจุดตัดเหล็กให้ได้ความยาวตามต้องการ เช่น เท่ากับความยาวเสา, คาน
อีกส่วนพี่ๆ กำลังเชื่อมเหล็กให้เป็นรูปร่างต่างๆ ตามต้องการ
ผลงานจะออกมามีหน้าตาแบบนี้ พร้อมเอาไปหล่อคอนกรีตทำเป็นเสาบ้าง คานบ้าง
3) ขั้นตอนการผลิต : หล่อคอนกรีตเสริมเหล็ก เสา-คาน-บันได ให้เป็นชิ้นส่วนสำเร็จรูป
พอออกจากโรงเหล็ก เราจะข้ามไปดูโรงงานผลิตชิ้นส่วนสำเร็จฝั่งตรงข้ามกันบ้าง
คอนกรีตที่ผสมมาจะสั่งมาจาก Supplier ด้านนอกอีกเช่นกัน แต่ก่อนจะนำไปใช้ก็ต้องทดสอบกันก่อนค่ะ โดยการเทคอนกรีตบางส่วนออกมา
ด่านแรกจะเป็นการวัดค่าความยุบตัวของคอนกรีต (Slump Test) ทำเพื่อดูความข้นเหลวของคอนกรีต ว่ามีความหนืดและค่าการยุบตัวที่เหมาะสมไหม เพราะกว่าคอนกรีตจะมาถึงโรงงานมันมีปัจจัยหลายอย่างมาก ไม่งั้นเทสไม่ผ่านแล้วเอาไปสร้างอาจจะมีปัญหาได้ วิธีการง่ายๆ ก็คือตักปูนผสมแล้วใส่ในกรวยคว่ำให้เต็ม
เมื่อดึงกรวยออกมา คอนกรีตสำหรับงานทั่วไปไม่ควรยุบลงเกิน 7.5+- 2.5 ซม. แต่คอนกรีตชุดนี้ยุบตัวมากเกินไปถือว่าไม่ผ่านค่ะ ปัจจัยที่ทำให้คอนกรีตบางล็อตทำ Slump Test ไม่ผ่าน เช่น คอนกรีตมีความเหลวมากเกินไป อะไรแบบนี้เป็นต้น เพราะส่วนผสมของคอนกรีตจะมาจาก ปูน + ทราย + หิน + น้ำสะอาด ในสัดส่วนที่เหมาะสมตามการใช้งาน แต่หน้าฝนนี้หินอาจจะเก็บน้ำเอาไว้มากไปหน่อยพอผสมด้วยสัดส่วนเดิมแล้วกลับออกมาไม่พอดี ซึ่งถ้า test ออกมาไม่ได้ค่ามาตรฐาน ก็จะถูก reject ทิ้งหมดค่ะ
ความรู้เรื่องสัดส่วนการผสมคอนกรีตโดยทั่วไป (ไม่ใช่เฉพาะสูตรของซีคอนนะคะ)
- สูตร 1 : 1.5 : 2 กับงานโครงสร้างที่ต้องการความแข็งแรงและความทนทาน
- สูตร 1 : 2 : 4 สำหรับงานโครงสร้างคอนกรีตทั่วไป เช่น พื้น เสา คาน ตอม่อ
- สูตร 1 : 3 : 5 สำหรับเทคอนกรีตหยาบ ใช้ปรับระดับ หรือ ไม่ได้รับแรงมาก
- สูตร 1 : 1.5 : 3 สำหรับงานถนน และโครงสร้างที่ต้องการความแข็งแรง
ส่วนคอนกรีตของเจ้าไหนผ่านก็จะเอามาหล่อเป็นรูปทรงกระบอกแบบนี้ ผ่านไป 7 – 14 – 28 วัน ก็จะเอาเข้าเครื่องกด เพื่อทดสอบความต้านทานแรงอัดอีกที (Compressive strength of Concrete)
เมื่อผ่าน 2 ขั้นตอนมาได้ รถปูนก็จะขับต่อเข้ามาด้านใน พร้อมเทคอนกรีตเข้าไม้แบบที่จะอยู่ทั้งซ้ายและขวาค่ะ
การจะหล่อเสา-คานได้ ก็ต้องมีไม้แบบซะก่อน ถ้าไม่มีความรู้ด้านการก่อสร้างเลย ก็ลองนึกถึงอารมณ์เหมือนหล่อปูนปลาสเตอร์อ่ะค่ะ ไม้แบบของที่นี่ทำจากเหล็กขึ้นรูป เพื่อให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่สิ้นเปลือง
ก่อนเทคอนกรีตก็ต้องหล่อไม้แบบด้วยน้ำมันก่อน เวลาถอดแบบจะได้เอาออกมาง่ายๆ
แล้วก็ถึงขั้นตอนวางเหล็กที่ผูกมาแล้วเข้าไปวางในไม้แบบ ต้องวางให้อยู่ตรงกลางของแม่แบบพอดี ตัวแม่แบบสามารถปรับเป็นคานสั้นยาวได้ตามต้องการด้วยตัวปรับระดับที่อยู่หัว-ท้าย นะคะ
และตัวปรับระดับจะช่วยยึดเหล็กให้ลอยอยู่ตรงกลางไม้แบบด้วย
เหล็กที่ยกไปวางนั้นมีน้ำหนักมากค่ะ ต้องใช้เครนสีเหลืองเครื่องนี้ช่วยยกมาวางในไม้แบบ ทำให้ลูกจ้างผู้หญิงสามารถทำเองได้สบายๆ
เอ้า ช่วยกันจัดเหล็กให้ตรง
เตรียมไว้เรียบร้อยพร้อมเทคอนกรีตลงไป
ข้อดีอีกอย่างของการหล่อในโรงงานที่มีอุปกรณ์แบบนี้ คือสามารถกางผ้าใบคลุมในวันที่ฝนฟ้าไม่เป็นใจได้ด้วย ถ้าผสมที่หน้างานละก็ ต้องรอฝนหยุดตก เสียเวลากันไปอีก
นอกจากคานและเสาแล้วก็มีไม้แบบสำหรับหล่อบันไดด้วย
ซึ่งบันไดสำเร็จแบบนี้ ช่วยประหยัดเวลาก่อสร้างได้มากกว่าการหล่อในที่เยอะเลยค่ะ
เทคอนกรีตแล้วก็รอไปประมาณ 24 ชั่วโมง ถึงจะแกะออกจากไม้แบบได้ แต่ของ Seacon จะใช้คอนกรีตกำลังอัดสูง จึงใช้เวลาแค่ 12 ชั่วโมงก็ถอดออกมาได้แล้วค่ะ พอแกะแล้วก็ต้องบ่มคอนกรีตให้เปียกอยู่เรื่อยๆ ด้วยไปอีก 28 วันด้วยสปริงเกอร์ เพื่อให้ตัวคอนกรีตไม่เสียน้ำระเหยออกเร็วเกินไป ไม่งั้นจะแครกแตกได้ค่ะ
ตรงนี้จะเป็นพวกเสาเอาออกจากไม้แบบแล้ว เป็นเสาคอนกรีตเสริมเหล็กโดยสมบูรณ์ เสาของที่นี่จะหล่อทีเดียวให้สูงถึงชั้น 2 เลย เพื่อช่วยให้การติดตั้งทำได้รวดเร็วขึ้นนั่นเอง เหมือนประกอบเลโก้
ระหว่างเสาชั้น 1 และชั้น 2 ก็จะมีช่วงเว้นว่าง สำหรับเชื่อมต่อกับคานชั้นสอง ส่วนรูที่เห็นจะเป็นช่องไว้ใส่ท่อต่างๆ ที่ได้คำนวนมาแต่แรก
คานที่ต้องเชื่อมกับพื้น, ระเบียง หรือห้องน้ำ ก็จะมีเหล็กยื่นออกมาเตรียมไว้เชื่อมกับโครงสร้างอื่นๆ
ตรงนี้น่าจะเป็นคานของระเบียง เพราะมันสั้น
ที่น่าสังเกตคือปลายของคานแต่ละชิ้น จะทำเป็นยักๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่หน้าตัดเวลาเทปูนลงไปเชื่อมกัน เดี๋ยวจะเห็นชัดขึ้นตอนหน้างานจริง
และแต่ละชิ้นก็จะมี Tag บาร์โค้ด เป็นของตัวเอง ไม่มีปัญหาส่งชิ้นส่วนผิดบ้านหรือส่งไม่ครบแน่นอน หรือแม้กระทั่งตามชิ้นส่วนได้ว่ากำลังอยู่ในกระบวนอะไร Stamp QC Pass รับรองมาตรฐานได้ง่าย สนิมที่เห็นที่เหล็กเป็นสนิมผิวนะคะ เกิดขึ้นได้ปกติไม่ได้ซีเรียสอะไร ตราบใดที่มันไม่ได้กินลึกถึงเนื้อเหล็ก
เศษปูนเหลือก็จะเอามาทำเป็นลูกปูน เพื่อใช้ในการก่อสร้างตามหน้างาน เป็นตัวคอยดันเหล็กให้อยู่ตรงกลางพื้นเวลาเทพื้นค่ะ
และเวลาขนส่งโครงสร้าง เสา คาน บันได ก็จะใช้ รถบรรทุกคันนี้หล่ะ
4) ติดตั้งหน้างาน
หน้าที่ของเจ้าของบ้าน คือต้องเคลียร์พื้นที่หน้างานให้เรียบร้อย อาจจะต้องถมดินหรือบดอัดก็ว่ากันๆไป เมื่อทีมงาม SeaconHome ไปถึงหน้างานก็จะเทฐานราก แล้วเอาเสาสำเร็จรูปไปตั้ง จากนั้นก็เอาคานไปต่อ เชื่อมเหล็กให้เสร็จ (ตรงนี้เป็นโมเดลจริงที่เค้าทำให้ดู ทิ้งไว้หลายปีแล้ว มันก็เลยดูเลอะๆ หน่อยนะคะ)
จากนั้นก็ปิดด้วยไม้แบบ เพื่อแล้วเทปูนเข้าไปปิดรอยต่อ ก็จะเชื่อมเป็นชิ้นงานเดียวกัน
ปิดไม้แบบเตรียมเทคอนกรีตลงไปได้
พอปูนแห้งก็แกะไม้แบบออกมา จะได้โครงสร้างที่เชื่อมต่อกันแบบนี้เลย
พอได้คานแล้วก็เอาพื้นสำเร็จรูปมาวางบนคานอีกที จากนั้นก็วางเหล็กบนพื้น ผูกเข้ากับเหล็กที่ติดมากับคานสำเร็จแล้วก็เทปูน topping ปรับระดับให้เท่านั้น กลายเป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก พร้อมปูพื้นไม้หรือกระเบื้องต่อไปค่ะ
รอยต่อของพื้นห้องแต่ละห้อง มีช่องว่างไว้แบบนี้แล้วค่อยเทปูนลงไปอีกที ก็เชื่อมสนิทเป็นผืนเดียวกัน
ถ้าเป็นห้องน้ำ จะไม่ใช้พื้นสำเร็จรูปอยู่แล้ว ต้องเทคอนกรีตหล่อในที่เพื่อไม่ให้มีรอยต่อน้ำรั่วซึมได้ เลยต้องเอาแผ่นไม้แบบมารองเตรียมเทคอนกรีต แต่ก่อนเทคอนกรีตก็ต้องวางเหล็ก และผูกกับคานให้เสร็จก่อน วางท่อต่างๆให้เรียบร้อย ซึ่งห้องน้ำก็มักจะลดระดับลงไปจากพื้นบ้านประมาณ 5 – 10 ซม. พอเทคอนกรีตลงไป ทิ้งไว้ประมาณ 2 อาทิตย์ก็จะได้พื้นห้องน้ำพร้อมปูกระเบื้องแล้วค่ะ
เมื่อมาอยู่ชั้นล่าง มองหน้าขึ้นไปจะเป็นท้องพื้นแบบนี้ แต่เดี๋ยวก็จะมีผนังกับฝ้ามาช่วยปิดความไม่เรียบร้อย โดยผนังจะก่อด้วยอิฐมอญหรืออิฐมวญเบาก็แล้วแต่ลูกค้าจะเลือก ถ้าเป็นคนยุคเก่าหน่อยจะมั่นใจกับอิฐมอญ ส่วนลูกค้าสมัยใหญ่หน่อยก็อาจจะชอบอิฐมวลเบาค่ะ ที่นี่ก่อได้ตามใจหมด
ส่วนบันไดที่มาแบบสำเร็จรูป ก็ยกมาตั้งในที่ ผูกเหล็กกับเหล็กที่คานได้เลย
และเพื่อให้การขนส่งง่าย บันไดแต่ละชิ้นจะมีความกว้างไม่ถึง 90 ซม. ซึ่งจะแคบไปหน่อย หน้างานเลยต้องเอามาต่อกันในที่แบบนี้ค่ะ ซึ่งบันไดที่ทำสำเร็จจะพอดีกันเป๊ะ วางชิดๆ กันแล้วเทปูนเชื่อมกับตรงกลางก็จะเนียนเป็นชิ้นเดียวกันแล้ว
4) งานตกแต่ง
พอโครงสร้างขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง ก็ถึงเวลาใส่หลังคา ปิดฝ้าและผนังแล้วค่ะ ซึ่งส่วนนี้ก็แล้วแต่ว่าจะเลือกวัสดุอะไรในการสร้าง มีวิธีต่างๆ กันไป โดยจะทำตั้งแต่หลังคา, ฝ้า, ผนัง, ประตู, หน้าต่าง, ปูพื้น และทาสีก็เป็นอันเสร็จ ซึ่งเราก็จะไม่ลงดีเทลมาก เพราะวัสดุนี่ก็แล้วแต่คนชอบรวมถึงแล้วแต่งบประมาณด้วย ทำเสร็จแล้วก็จะได้บ้านน่ารักๆ ออกมา 1 หลังค่ะ
หลังจากได้ดูเบื้องหลังจากก่อสร้างขอ Seacon Home กันไปแล้ว ทุกคนน่าจะเข้าใจขั้นตอนในการสร้างบ้านแบบที่มีมาตรฐานและมั่นใจกับบริษัทรับสร้างบ้านมากขึ้น ถือว่าเป็นอีกวิธีนึงของคนที่มีที่ดินอยู่แล้ว และต้องการสร้างบ้าน หรือไปเลือกแบบบ้านจัดสรรแล้วไม่ถูกใจ อยากได้บ้านชั้นเดียวหรือสามชั้น ลองปรึกษากับ Seacon Home ,Compact Home, Budget Home การมีบ้านก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยค่ะ
[บทความนี้เป็น Advertorial]
The post อยู่สบายพาชมขั้นตอนการก่อสร้างบ้าน ซีคอนโฮม (Seacon Home) appeared first on รีวิวคอนโด บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม โดยอยู่สบาย.คอม (YuSabuy.com).