โรงแรมดุสิตธานี (Dusit Thani Bangkok Hotel) ที่อยู่คู่คนไทยมานาน 48 ปีได้ทำการปิดตัวลงในวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องที่น่าใจหายกันสักหน่อยนะคะ เพราะหากใครที่ผ่านไปมาบนเส้นสีลมหรือพระราม 4 ก็จะเห็นอยู่เป็นประจำ ถึงขั้นเรียกได้ว่าเจอโรงแรมดุสิตธานีก็เท่ากับมาถึงย่านสีลมกันแล้ว
ส่วนบางคนที่เสียดายงานศิลป์ที่อยู่ในโรงแรม ก็ไม่ต้องห่วงไปนะคะ เพราะทางโรงแรมได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อวิจัย ศึกษา และเก็บอนุรักษ์งานด้านจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าเอาไว้ แล้วจะนำไปจัดแสดงบอกเล่าเรื่องราวให้คนยุคใหม่ได้ศึกษาค่ะ
สำหรับการพัฒนาผืนดินตรงจุดนี้ เป็นการพัฒนาโครงการอสังหาริ
HISTORY
สำหรับประวัติความเป็นมา ต้องขอย้อนกลับไปเมื่อ 70 ปีก่อน …เมื่อ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี มีความประทับใจในการบริการของโรงแรมต่างๆ ขณะได้ไปเที่ยวชมในต่างประเทศ ท่านจึงสร้างโรงแรมแห่งแรกขึ้นมาในชื่อ ปริ้นเซส และหลังจากนั้นประมาณ 20 ปี ก็ได้ต่อยอดธุรกิจ ก่อตั้งบริษัท ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อก่อสร้างโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ขึ้น
โดยท่านหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย มีความต้องการให้เป็นโรงแรมสูง พร้อมทั้งได้มาตราฐานเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว โดยเลือกทำเลบริเวณหัวมุมถนนเส้นสีลมและพระราม 4 เป็นที่ตั้ง ซึ่งในสมัยนั้นทำเลย่านนี้ยังคงเงียบสงบ ไม่เหมือนกับปัจจุบันที่ได้กลายเป็นย่านธุรกิจ CBD ไปแล้วค่ะ
ARCHITECT & DESIGNER
ในสมัยนั้นในประเทศไทยยังไม่มีอาคารสูงเกินสิบชั้น การจะสร้างตึกสูงจึงเป็นเรื่องยากที่จะหาผู้เชี่ยวชาญในไทยมาช่วยออกแบบก่อสร้าง แต่ประจวบเหมาะกับที่ท่านหญิงได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นกับคณะกระทรวงอุตสาหกรรม และได้พบกับประธานกรรมการโรงแรมโอกุระ ท่านจึงได้แนะนำสถาปนิกที่มีประสบการณ์ออกแบบโรงแรมโอกุระ ที่โตเกียว และโรงแรมเพรสซิเดนท์ ที่ไต้หวัน ให้กับท่านหญิง จึงได้บริษัท Kanko Kikaku Sekkeisha (KKS.) และ Thai Obayashi มาช่วยออกแบบและก่อสร้างโรงแรมให้ค่ะ
DESIGN
เรื่องการออกแบบยังไม่จบเพียงเท่านั้นค่ะ ! ต้องบอกก่อนว่าในสมัยนั้นทุกคนจะนิยมการออกแบบตามกระแสตะวันตก คือ ลักษณะเป็นอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมซองบุหรี่ แต่ท่านหญิงให้โจทย์ว่าต้องการโรงแรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และนำเสนอความเป็นไทยเข้าไปผสมอยู่กับความทันสมัย ทางสถาปนิกจึงดึงเอาความเป็นไทยมาจากงานสถาปัตยกรรมไทยอย่างวัดวาอาราม และองค์ประกอบของใบบัว เราจึงจะเห็นการเล่นกับรูปทรงหกเหลี่ยม สามเหลี่ยม ในอาคารนี้เยอะ ทำให้มีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร ….
ตั้งแต่แปลนตัวอาคารโรงแรมจะมีรูปทรงสามเหลี่ยมด้านเท่าปลายตัด ที่พัฒนามาจากทรงหกเหลี่ยม สูงทรงสอบลดหลั่นขึ้นไป ดูอ่อนช้อยกว่าตึกทั่วๆ ไป พร้อมทั้งมียอดเสาสีทองอยู่บนตัวอาคารเป็นที่น่าจดจำ ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากพระปรางค์วัดอรุณ นั่นเองค่ะ
จนกลายมาเป็นภาพโรงแรมดุสิตธานีในปัจจุบัน ที่ประกอบได้ด้วย
- โพเดียม สูง 3 ชั้น
- โรงแรม สูง 23 ชั้น
- อาคารสำนักงาน สูง 11 ชั้น
ถ้าดูจากในภาพอาคารสำนักงานสูง 11 ชั้นจะอยู่ทางซ้ายมือ และตัวโรงแรมสูง 23 ชั้น อยู่ทางขวามือค่ะ ด้านหน้าจะเป็นลานจอดรถและมีทางลาดขึ้นไป Drop-Off ที่ชั้น 2 ของโรงแรมด้วย จำนวนห้องพักของโรงแรมดุสิตธานีมีอยู่ 500 ห้อง เด่นตรงที่ทุกห้องมีระเบียงสามารถเดินออกมาชมวิวทิวทัศน์ของกรุงเทพฯ ได้ ส่วนชั้นบนสุดที่เห็นเป็นห้องกระจกสอบออกจะเป็นห้องอาหารเทียร่าค่ะ
ทั้งหมดนี้ใช้เวลาก่อสร้างถึง 3 ปี และเปิดให้ใช้บริการตอน พ.ศ. 2513 ค่ะ คนรุ่นใหม่หลายคนอาจจะมองว่าไม่เห็นมีอะไรเด่น แต่บอกเลยว่า ในยุคนั้นโรงแรมดุสิตธานีถือว่าเก๋และทันสมัยสุดๆ แถมยังเป็นอาคารที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ ในยุคนั้นอีกด้วยค่ะ
NAME & MEANING
ส่วนชื่อ โรงแรมดุสิตธานี นั้น มาจากชื่อของแดนสวรรต์ชั้นดุสิต และยังเป็นนามมงคลที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเรียกเมืองจำลองแห่งประชาธิปไตย พร้อมทั้งสถานที่ตั้งโรงแรมดุสิตธานีนั้น ก็เคยเป็นบ้านที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่เจ้าพระยายมราชมาก่อน ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นบ้านศาลาแดงอยู่ภายใต้ในการดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และท่านหญิงได้ไปเจรจาขอเช่าที่ดินมา พอนำทุกอย่างมารวมกันแล้วคำว่า ดุสิตธานี นั้นเป็นชื่อที่เรียกง่าย แล้วยังบ่งบอกถึงความเป็นไทยไปในตัวอีกด้วย
FACADE
พูดถึงที่มาที่ไปของการออกแบบอาคารกันแล้ว เราเดินเข้าไปดูโรงแรมดุสิตธานีกันเลยค่ะ ซึ่งเมื่อเดินเข้ามาแล้วทุกคนจะต้องเดินผ่าน Facade ตรงโพเดียมกันทุกคน เป็นการตกแต่งประดับแบบไทยๆ โดยออกแบบให้มีเสาสูงจากพื้นจนถึงฝ้าและหลังคารูปสามเหลี่ยมเหมือนใบบัว
ระหว่างเสายังตกแต่งเป็นซุ้ม ซึ่งมีลักษณะรูปทรงคล้ายกับช่องซุ้มทางเดินที่วัดเบญจมบพิตร ประดับด้วยกระเบื้องโมเสคสีทองและสีเขียวปีกแมลงทับ ตรงกลางของซุ้มก็มีเหล็กดัดลายร่างแหประดับลายประจำยามอยู่ ทุกอย่างบ่งบอกถึงความเป็นไทยแบบประยุกต์ได้อย่างลงตัว
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ที่ทางสถาปนิกนำมาเป็นแนวคิดในการออกแบบซุ้มประดับบริเวณที่ Facade ชั้นล่างค่ะ
HEXAGON
เมื่อเข้ามาด้านในบริเวณโถงกลางที่เป็นจุด Highlight ของอาคารนี้ เพราะฝ้าจะสูง Double Volume ดูอลังการ และอยู่ติดกับกระจกบานใหญ่สูง 2 ชั้นที่เปิดวิวเข้าหาคอร์ทกลาง ที่สำคัญฝ้าเพดานจะออกแบบให้เป็นทรง 6 เหลี่ยมต่อเนื่องกับยอดเสา เหมือนกับว่าเราอยู่ใต้ใบบัวอย่างไรอย่างนั้นเลยค่ะ และการที่เราเห็นเสาหลายต้นอยู่บริเวณโถง แสดงให้เห็นว่าการก่อสร้างในสมัยก่อนยังมีข้อจำกัด เพราะยังต้องการเสาหลายต้นๆ มารองรับน้ำหนักของตัวอาคาร ยังทำ Span เสากว้างๆ ไม่ได้เหมือนกับในปัจจุบัน
บรรยากาศโถงกลางในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 มีงานเลี้ยงอำลาตึกพอดีค่ะ
ฝ้าเพดานทรงใบบัวเป็นเอกลักษณ์นึงของโรงแรมนี้
และถ้ามองออกมาจากโถงกลางก็จะพบกับคอร์ทกลาง มีน้ำตกจำลองรูปหกเหลี่ยมสูงตั้งแต่ชั้น 1 ถึงชั้น 2 ล้อมรอบไปด้วยต้นไม้นาๆ ชนิด สร้างบรรยากาศความร่มรื่นให้แขกที่มาพัก และต้นไม้ที่เราเห็นกันอยู่นั้น ท่านหญิงเป็นคนปลูกเองด้วยนะคะ ทำให้บ้างต้นมีอายุราวๆ 50 กว่าปีกันเลยทีเดียว ซึ่งถ้าเดินขึ้นบันไดข้างน้ำตกจะสามารถเดินไปยังสระว่ายน้ำหกเหลี่ยมที่อยู่ด้านหลังโรงแรมได้อีกด้วย
จากการออกแบบในลักษณะนี้ ทำให้คนที่อยู่โถงกลางได้วิวสวนน้ำตกอยู่ในระดับสายตา สร้างบรรยากาศให้กับพื้นที่โถงดูร่มรื่น ในขณะที่สระว่ายน้ำหกเหลี่ยมด้านหลังนั้นจะอยู่ระดับเหนือสายตาพอดี มีความเป็นส่วนตัวด้วย
ชั้น 3 จะเป็นห้องสปา ที่เลือกใช้หลังคาหน้าจั่ว เป็นเอกลักษณ์ของบ้านทรงไทย
เข้ากับระเบียงด้านหน้ารูปสามเหลี่ยม
หากมองกลับขึ้นไปก็จะเห็นตึกโรงแรมดุสิตธานีตั้งเด่นอยู่
RESTAURANTS
ทีนี้เรามาดูห้องอาหารในโรงแรมกันบ้าง เพื่อนๆ บางคนอาจจะเคยได้มาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นห้องอาหารเมย์ฟลาวเวอร์ (อาหารจีนกวางตุ้ง), ห้องอาหารเทียนดอง (อาหารเวียดนาม), ห้องอาหารเบญจรงค์ (อาหารไทย) และ ห้องอาหารเทียร่า ที่อยู่บนชั้นสูงสุดของตึก
หนึ่งในสถานที่ที่เป็นไฮไลท์น่าสนใจคงขาดไม่ได้ คือ ห้องอาหารเบญจรงค์ ห้องอาหารไทย ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากตั้งแต่สมัยที่เปิดให้บริการตั้งแต่อดีต ภายในก็ออกแบบตกแต่งเก็บรายละเอียดออกมาได้งดงามตามแบบศิลปะไทย ทั้งลายที่บรรจงวาดบนผนัง, เสากลมต้นใหญ่ 2 ต้น โดยทั้ง 2 อย่างนี้ เป็นผลงานงานชิ้นเอกผลงานหนึ่งของศิลปินชั้นครู ไพบูลย์ สุวรรณกฏ และในห้องนี้ยังมีการตกแต่งเก็บรายละเอียดลายแกะฉลุไม้, ไม้สักที่ตกแต่งห้อง ซึ่งการรื้อถอนโรงแรมในครั้งนี้ จะต้องหาทางตัดเสาและเก็บผนังเพื่ออนุรักษ์ไว้ด้วยค่ะ
ภาพวาดฝาผนังของศิลปิน ไพบูลย์ สุวรรณกฏ เป็นหนึ่งจุดที่ทางกรมศิลปากร ตั้งใจเก็บและอนุรักษ์ผลงานชิ้นนี้ไว้
การฉลุไม้และการแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ ล้วนบ่งบอกถึงความประณีตในการออกแบบประดับตกแต่ง
ห้องรับประทานอาหารแบบส่วนตัว
นอกจากห้องอาหารเบญจรงค์แล้วก็ยังมี ห้องอาหารเทียร่า ที่เป็นไฮไลท์อีกห้องหนึ่งของที่นี้ เพื่อนๆ บางคนอาจจะรู้สึกเป็นเรื่องปกติกับร้านอาหารบนชั้นสูงๆ ที่สามารถมองเห็นวิวได้เหมือนในสมัยนี้ แต่รู้เมื่อไหร่ว่า โรงแรมดุสิตธานีถือเป็นโรงแรมแรกในประเทศไทยที่เปิดให้บริการ Supper Club บนชั้นสูงสุดของอาคาร ที่สามารถมองเห็นวิวกรุงเทพฯ ไกลถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้นสถานที่แห่งนี้ จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากค่ะ ต่อมาภายหลังก็ได้มีการเปลี่ยนเป็นห้องอาหารฝรั่ง D’Sens และสุดท้ายก็เปลี่ยนเป็นห้องอาหารแนวแปซิฟิกซีฟู๊ด 22 Kitchen & Bar ค่ะ
โรงแรมดุสิตธานีก็ยังมีห้องอื่นๆ และการตกแต่งที่คงเอกลักษณ์ความเป็นไทยไว้อีกมากมายนะคะ ห้องที่เรานำมาฝากกันอีกห้อง คือ ห้อง Library 1918 ที่เป็นห้องจัดงานรองรับแขกพิเศษต่างๆ ซึ่งดีไซน์ตกแต่งออกแบบมาให้เหมือนห้องหนังสือ ภายในห้องยังเก็บรายละเอียดแกะสลักไม้ลวดลายดอกบัวอย่างประณีต และยังเป็นห้องที่เก็บเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 6 ไว้ด้วยค่ะ
ภายในห้องนี้จะได้วิวน้ำตกจำลองตรงคอร์ทกลางชัดเจน บรรยากาศภายในห้องจะดูเป็นไทยผสมความทันสมัย
ของตกแต่งต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 6
การปิด โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ก็เพื่อก้าวไปสู่การบริการที่ทันสมัยและตอบโจทย์ลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น กับการทำโครงการในรูปแบบ Mixed-use โดยร่วมทุนระหว่าง บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เซ็นทรัล พัฒนา จำกัด (มหาชน) มูลค่าสูงกว่า 3.67 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียวค่ะ
นับจากนี้ไปอีก 3-4 ปีข้างหน้า ก็ตั้งตารอดูการเปลี่ยนแปลงผลิกโฉมของโรงแรมดุสิตธานีได้เลยค่ะ ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง แต่คาดว่ายังคงรักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทยของดุสิตธานีไว้เช่นเดิน สำหรับบทความนี้ก็ขอลากันไว้เพียงเท่านี้นะคะ….
The post ปิดตำนานครึ่งศตวรรษ โรงแรมดุสิตธานี ผลิกโฉมสู่ก้าวใหม่ของวงการโรงแรม appeared first on รีวิวคอนโด บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม โดยอยู่สบาย.คอม (YuSabuy.com).